03EDA6113

EDA6113 หลัก ทฤษฏีและกระบวนการบริหารการศึกษา
ผู้สอน   รองศาสตราจารย์ อำนวย ทองโปร่ง
           รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.ศิริพงษ์ เศาภายน

ภาระงาน EDA 6113 หลักและทฤษฎีการบริหารการศึกษา
1. ข้อสอบอัตนัยปลายภาค 30%
2. รายงานเดี่ยว เลือกทำ 1 ชิ้น 20% ส่งในวันสอบปลายภาค 5 ต.ค. 2556
    2.1 วิเคราะห์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในสถานศึกษา >> สภาพปัญหา >> ใช้หลักการ แนวคิดหรือทฤษฎีใดมาใช้แก้ปัญหา >> ผลออกมาเป็นอย่างไร
    2.2  วิเคราะห์บทความวิชาการทางการบริหารการศึกษา โดยวิเคราะห์ประเด็น เชื่อมโยงว่าสอดคล้องกับบทใดบ้าง
    2.3  เขียนบทความเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษา
3. การมีส่วนร่วมขณะเรียน (การซักถามและการแสดงความคิดเห็น) การทำรายงานกลุ่มตามใบกิจกรรมและการเข้าเรียน 30%
    งานกลุ่ม ใช้เวลานำเสนอ 1 ชั่วโมง  อาจจัดทำคลิปเอง หรือนำคลิปที่เกี่ยวข้องจาก youtube  ตัวสไลด์เสนอเฉพาะประเด็นสำคัญ  เนื้อในตัวเล่มรายงานกลุ่มต้องมีทั้ง 8 กิจกรรม เรื่องที่ไม่ใช่ของกลุ่ม อาจมีเพียง 1-2 หน้า เรื่องที่รับผิดชอบ 8-10 หน้า ส่งในการเรียนวันแรกของวิชาต่อไป

4. การสอบย่อย (Quiz) 20%

Take Home ครั้งที่ 1 (14 ก.ย.56)
               ให้ศึกษาเกี่ยวกับ  BSC, QCC, TQM, LO, KM, SBM, RBM, WSA, PMQA, Benchmarking, Best PracticeและTheory X Y Z  A J แล้วสรุปใจความสำคัญ และจะนำไปใช้ในองค์การได้อย่างไร
แนวการตอบ
https://www.facebook.com/M62555/posts/494817040558455
http://www.radompon.com/weblog/?page_id=101

Quiz ครั้งที่ 2
จาก clip โรงเรียนญี่ปุ่น ที่ได้ชม ได้สาระสำคัญอะไรบ้าง และสอดคล้องกับหลักกากรและทฤษฏีทางการบริหารการศึกษาอะไรบ้าง อภิปราย ถกแถลง แสดงเหตุผลมาให้เข้าใจชัดเจน

แนวข้อสอบFinal
  • อาจารย์ศิริพงษ์ อาจถามดังนี้
รายงานเดี่ยวทำเรื่องอะไร สรุปมา นำไปใช้อะไรกับสถานศึกษา วิชานี้มีอุปสรรคอะไรบ้าง หรือไม่ก็จะถามเรื่องการใช้ทฤษฏีในการบริหารสถานศึกษา ให้เลือกมา
  • แนวข้อสอบอาจารย์อำนวย
จะนำทฤษฏีระบบ มาใช้ในสถานศึกษาได้อย่างไร จงอภิปรายมาให้เห็นทุกขั้นตอน input,  process, outcome, environment, feedback คืออะไร ของโรงเรียนมีอะไรบ้าง
  • แนวข้อสอบของปีก่อนๆ
    1. แนวคิดใหม่ในการบริหารการศึกษามีความเกี่ยวสัมพันธ์กับเทคโนโลยี วิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์ ให้นักศึกษาพิจารณาแนวคิดสำคัญในการบริหารการศึกษา ต่อไปนี้แล้ววิเคราะห์อภิปลายชี้แจง ว่าแนวคิดเหล่านี้มีหลักการแนวคิดอย่างไร จะนำไปใช้บริหารจัดการศึกษาที่มีกรอบแนวคิดอย่างไร จึงจะช่วยให้การศึกษามีคุณภาพ
    2. ใน การบริหารงานหรือการปฏิบัติงานของท่านนั้นท่านได้เคยทำงานนั้นๆมาก่อนแล้ว ไม่มากก็น้อย ขอถามว่าท่านเห็นว่าทฤษฏีการบริหารใดที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อท่านมากที่สุด และท่านได้นำทฤษฎีนั้นๆมาใช้ประยุกต์ในการบริหารงานหรือแก้ปัญหาหรือป้องกัน มิให้เกิดปัญหาต่างๆเกิดขึ้นในองค์กรของท่านได้หรือไม่ จงอธิบาย


กิจกรรมที่ 1 สรุปความหมายการบริหารและหลักการบริหาร

1. ทฤษฎีการบริหาร
  • - Peter F. Druker ให้ความหมายว่า “ การบริหารคือการทำให้งานต่าง ๆ ลุล่วงไปโดยอาศัยคนอื่นเป็นผู้ทำ ”
  • - Terry ให้ความหมายว่า “ การบริหารเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์การ การกระตุ้น และการควบคุม ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณา จัดการกับบุคคล และทรัพยากรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ”
  • - McFarland กล่าวว่า “ การบริหารเป็นกระบวนการบูรณาการขั้นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมขององค์การที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ”
  • - Dejon ให้ความหมายว่า “ การบริหารเป็นกระบวนที่จะทำให้วัตถุประสงค์ประสบความสำเร็จโดยผ่านทางบุคคลและการใช้ทรัพยากรอื่น กระบวนการดังกล่าวรวมถึงองค์ประกอบของการบริหารอันได้แก่ การกำหนดวัตถุประสงค์ การวางแผน การจัดองค์การ การกำหนดนโยบายการบริหาร และการควบคุม ”
  • - Dale ให้ความหมายว่า “ การบริหารหมายถึงการวางแผน การจัดองค์การ การบริหารบุคคล การอำนวยการ การควบคุมนวัตกรรม และการเป็นตัวแทน ”
  • - Hersey,Blanchard and Johnson 2001 ให้ความหมายว่า “ การบริหารเป็นกระบวนการทำงานพร้อมกับบุคคลและกลุ่มบุคคล ”
สรุปแนวคิดทฤษฎีการบริหาร
การบริหารคือ การนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ โดยมีการวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ การจัดการ การดำเนินงานตามแผนและมีระบบควบคุมดูแลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น ๆ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงยึดบริบทขององค์การทั้งด้านทรัพยากร และบุคลากรในองค์การที่มีอยู่

2. หลักการบริหารของ Fayol
หลักการของฟาโยล์เป็นหลักการที่มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการได้ตลอดเวลามีความเข้าใจวิธีการ โดยใช้สติปัญญาประสบการณ์ การตัดสินใจมีหลักการ 14 ประการ
  • 1. การแบ่งงานกัน ( Division of Work ) มอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถของแต่ละบุคคล แบ่งงานให้ เสมอภาคด้วยความยุติธรรมให้กำลังใจในการทำงานอย่างทั่วถึง
  • 2. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ( Authority and Rseponsibility ) อำนาจการสั่งการของผู้บริหารมีความแตกต่างกันระหว่างอำนาจผู้บริหารที่อยู่ในที่ทำงานกับอำนาจที่เกิดจากบุคลิกภาพรวมถึงสติปัญญา ประสบการณ์ ความเป็นผู้นำ
  • 3. ความมีวินัย ( Discipline ) ให้บุคลากรได้รู้จักโครงสร้างสายงาน มีความสามัคคี ความมีวินัย เป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้องค์กรบรรลุถึงวัตถุประสงค์
  • 4. ความมีเอกภาพ ( Unity of Command ) ในการบังคับบัญชาควรถือตามคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเพียงผู้เดียวเท่านั้น
  • 5. ความมีเอกภาพในการอำนวยการ ( Unity of Direction )ในการจัดกิจกรรมกลุ่มควรมีหัวหน้าเพียงคนเดียวต่อหนึ่งกิจกรรม
  • 6. ความสนใจของบุคคลต้องเป็นรองความสนใจของคนส่วนรวม( Subordination of individual interests to General Interests ) ความสนใจของผู้ปฏิบัติหนึ่งคนไม่นำมาเป็นความสนใจของคนอื่นที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมมีการยอมรับข้อตกลงจากส่วนรวมให้มากที่สุด
  • 7. การให้ผลตอบแทน ( Remuneration ) ควรเป็นธรรมและให้เกิดความพึงพอใจต่อบุคลากรในองค์การ
  • 8. การรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ( Centralization ) ขึ้นอยู่กับสภาพขององค์การในขณะนั้นรวมถึงคุณลักษณะด้านคุณธรรมของผู้บริหาร
  • 9. สายการบังคับบัญชา ( Scalar chain ) เป็นการแสดงความห่างกันระหว่างผู้มีอำนาจสูงสุดกับผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรมี
  • 10. คำสั่ง ( Order ) ผู้รับคำสั่งจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่รับคำสั่ง และผู้ปฏิบัติต้องอยู่ในที่มีการสั่งการ
  • 11. ความเสมอภาค ( Equity ) ผู้บริหารต้องให้ความเมตตาและให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมกับทุกคน
  • 12. ความมั่นคง ( Stability of Tenure of Personnel) ในหน้าที่การงานให้บุคลากรในองค์การได้ใช้เวลาในการทำงานโดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่เขามีดึงออกมาใช้ในการปฏิบัติงานจะทำให้การทำงานขององค์การมั่นคงขึ้น
  • 13. ความคิดริเริ่ม ( Initiative ) การคิดแตกต่างไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่เป็นการสร้างสรรค์งานให้สำเร็จได้เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับองค์การอีกทางหนึ่ง
  • 14. ความสามัคคี ( Esprit de corpse ) ต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับบุคคลในองค์การจะทำให้การดำเนินงานขององค์การประสบความสำเร็จ
สรุป
พัฒนาการของทฤษฎีการบริหารเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และเทคโนโลยี การนำทฤษฎีการบริหารมาใช้ในการบริหารงานนั้น ผู้บริหารต้องมีมนุษยสัมพันธ์และมีทักษะในการนำเทคนิควิธีมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์การนั้น ๆ


ทฤษฏีการบริหารการศึกษา
Abraham Harold Maslow : ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ 5 ขั้น
รูปภาพจาก
http://encarta.msn.com/media_461544288/Abraham_Harold_Maslow.html

มาสโลว์ เป็นเจ้าของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ 5 ลำดับ ถ้าคุณเป็นนักอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารจัดการทั้งหลาย มาสโลว์จะถูกนำมาอ้างอิงตลอด ยังไม่เห็นมีใครจะมาแทนที่ได้ ถ้าคุณสนองความต้องการของลูกน้องได้ทั้งหมดตามหลักการของมาสโลว์ องค์กรของคุณจะประสบผลสำเร็จ ไม่เชื่อก็ลองดู ยกเว้นลูกน้องของคุณเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา ถ้าเป็นเช่นนั้น มาสโลว์ก็เอาไม่อยู่

มาสโลว์เป็นผู้วางรากฐานจิตวิทยามนุษยนิยม เขาได้พัฒนาทฤษฎีแรงจูงใจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาของอเมริกันเป็นอันมาก ทฤษฎีของเขามีพื้นฐานอยู่บนความคิดที่ว่า การตอบสนองแรงขับเป็นหลักการเพียงอันเดียวที่มีความสำคัญที่สุดซึ่งอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของมนุษย์ เขามีความเชื่อว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีความต้องการอันใหม่ที่สูงขึ้น แรงจูงใจของคนเรามาจากความต้องการ พฤติกรรมของคนเรามุ่งไปสู่การตอบสนองความพอใจ มาสโลว์ แบ่งความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับด้วยกัน ได้แก่

1.ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) หมายถึงความต้องการพื้นฐานของร่างกายซึ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ได้แก่ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ เสื้อผ้า
2.ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) หมายถึง ความต้องการมั่นคงปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
3. ความต้องการทางสังคม (Social Needs) หมายถึง ความต้องการที่จะเป็นที่รักของผู้อื่น และต้องการมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น
4.ความต้องการยกย่องชื่อเสียง (Esteem Needs) หมายถึง ความปรารถนาที่จะมองตนเองว่ามีคุณค่าสูง เป็นที่น่าเคารพยกย่องจากทั้งตนเองและผู้อื่น ต้องการที่จะให้ผู้อื่นเห็นตนมีความสามารถ มีคุณค่า มีเกียรติ มีตำแหน่งฐานะ บุคคลที่มีความต้องการประเภทนี้จะเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตนเอง
5.ความต้องการที่จะรู้จักตนเองตามสภาพที่แท้จริงและความสำเร็จของชีวิต(Self–ActualizationNeeds)หมายถึง ความต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจตนเองตามสภาพที่แท้จริงเพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์(Self-fulfillment) รู้จักค่านิยม มาสโลว์ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับความต้องการมนุษย์ไว้ดังนี้
1. มนุษย์มีความต้องการอยู่เสมอ
2. ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองแล้วจะไม่เป็นสิ่งจูงใจของพฤติกรรมนั้น ๆ อีกต่อไป
3. ความต้องการของมนุษย์จะเรียงกันเป็นลำดับขั้น ตามความสำคัญ

Douglas Mc Gregor : ทฤษฎี X และทฤษฎี Y

รูปภาพจาก
http://www.usyd.edu.au/senate/gradsMcGregor.shtml

ทฤษฎีนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีการมองต่างมุม ในความเป็นจริงของคนทุกคนไม่มีใครจะร้ายอย่างบริสุทธิ์ คือไม่มีข้อดีเลย คงไม่มี และในทางกลับกัน ก็คงไม่มีใครที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีข้อด่างพร้อยเลย ก็คงไม่มีอีกเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าพอเราจะได้ผลประโยชน์จากใครก็มองเขาดีไปหมด ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงเขาจะไม่ดีไปเสียทุกอย่าง แต่พอได้ผลประโยชน์ไปแล้วหรือเป็นคนที่ไม่มีผลประโยชน์สำหรับเราแล้ว ทุกอย่างก็ดูจะไม่ดีไปเสียทั้งหมด ถึงแม้ว่าที่จริงแล้วเขาก็ไม่ใช่คนที่เลวร้ายนัก เรามาลองศึกษาความคิดของคุณ Douglas Mc Gregor (1906-1964) ดูซิว่าเป็นอย่างไร

ทฤษฎี X(Theory X) เป็นปรัชญาการบริการจัดการแบบดั้งเดิม โดยมองว่าพนักงานเกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้น ไม่ชอบงานและพยายามหลีกเลี่ยงงาน

ทฤษฎี Y(Theory Y) เป็นปรัชญาการบริการจัดการ โดยมองว่าพนักงานมีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มในการแก้ปัญหาในการทำงานและไม่มีความเบื่อหน่ายในการทำงาน

แมคเกรเกอร์ ได้เรียกร้องให้ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงมุมมองมนุษย์จากมุมมองตามทฤษฎี X ไปเป็นมุมมองตามทฤษฎี Y

William Ouchi : ทฤษฎี Z

ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีลูกผสมระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกัน คุณวิลเลียม โอชิ ซึ่งเป็นชาวซามูไร เป็นคนคิดขึ้นมา ลองศึกษาแนวคิดของเขา เผื่อบางทีจะได้ปิ๊งไอเดีย เกิดเป็นทฤษฎีพันธ์ผสมใหม่ขึ้นมาอีกก็ได้
นักบริหารต้องคิดนอกกรอบเสมอ แต่ไม่ใช่คิดนอกครอกนะครับ

ขอขอบคุณเว็บ http://www.university.in.th/information/%C3%D2%C2%C7%D4%AA%D2%20%BE%C4%B5%D4%A1%C3%C3%C1%CD%A7%A4%EC%A1%D2%C3%203.doc ที่ทำข้อมูลไว้ให้พวกเรานำมาใช้ศึกษาโดยไม่ต้องเปิดDictionary

ทฤษฎี Z บางตำราอาจจะเรียกว่ากลุ่มทฤษฎีร่วมสมัย เป็นทฤษฎีที่มองเห็นว่าการจูงใจคนนั้นต้องเป็นไปตามสถานการณ์ แต่ทฤษฎีร่วมสมัยบางอย่างที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทฤษฎี แต่อยู่ระหว่างการศึกษาทดลองเพื่อปรับให้เป็นทฤษฎี เช่น ทฤษฎี Z ซึ่งเกิดจากคนอเมริกัน ที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น ชื่อ วิลเลี่ยม โอชิ ได้ศึกษาวิจัยว่า แนวความคิดในการบริหารจัดการของโลกนั้น แบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายอเมริกัน และค่ายญี่ปุ่น โดยสาเหตุที่ต้องศึกษาเช่นนั้น เพราะเขามองว่า ในค่ายอเมริกันนั้น มักประสบความสำเร็จในธุรกิจโดยเฉพาะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้ที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ผลปรากฏว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นนั้นแม้จะเป็นประเทศที่ขาดดุลทางการค้าแก่อเมริกาแต่ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นมา จนสามารถเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ คล้ายกับว่า อเมริกันนั้นขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอย่างย่อยยับ ดังนั้นวิลเลี่ยม จึงศึกษาถึงจุดดีของการบริหารจัดการจากสองค่ายนำมาสร้างเป็นแนวคิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ การที่จะทำความเข้าใจทฤษฎี Z ได้นั้น ต้องทำความเข้าใจของทฤษฎี A และทฤษฎี J ก่อน

ทฤษฎี A คือ Amarican Theory เป็นทฤษฎีว่าด้วยการบริหารจัดการร่วมสมัยตามแบบของอเมริกา ซึ่งให้หลักการว่า การบริหารจัดการแบบนี้ ต้องอาศัยการจัดการจากพื้นฐานของบุคคล ของผู้บริหารที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งในทฤษฎีนี้มีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
1.) Individualism คือ การที่สังคมอเมริกันเป็นสังคมแบบ ปัจเจกบุคคล ซึ่งจะมีความรับผิดชอบต่อตัวเองมาแต่อดีต และเมื่อคนต่างชาติโดยเฉพาะคนตะวันออกเข้าไปอาศัยในอเมริกันก็จะสังเกตว่า คนอเมริกันเป็นคนโดดเดี่ยว มีสุงสิงกับใคร สังคมแบบ Individualism ส่งผลให้เกิดบุคลากรที่มีความรับผิดชอบในหน่วยงานสูง แต่ก็เกิดผลเสียคือ ไม่เกิดความผูกพัน หรือเป็น
2.) Short Term Employment คือ การจ้างงานในระยะสั้น คนอเมริกันมักไม่มีความผูกพันในครอบครัว ในที่ทำงาน พร้อมเสมอที่ออกจากงาน ย้ายงาน จึงมักมีบริการให้เช่าสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมองว่าต้นทุนในการขนย้ายเฟอร์นิเจอร์เมื่อย้ายงาน ออกจากบ้าน จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเช่า นอกจากนั้น คนอเมริกันยังมีลักษณะที่เป็น
3.) Individual Decision Making สูง มีความมั่นใจในการตัดสินใจ กล้าตัดสินใจ ทำให้ผู้บริหารไม่ต้องไปดูแลอย่างใกล้ชิด ผลเสียคือ ขาดการทำงานเป็นทีม

ทฤษฎี J คือ การบริหารจัดการแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า 1.) การจ้างงานตลอดชีวิต หรือ Lifetime Employment มีการเลื่อนตำแหน่ง มีความผูกพันกัน เพราะฉะนั้นการเลี้ยงคนแบบญี่ปุ่นจะส่งเสริมให้มีการฝึกงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ผลเสียคือ ต้องเลี้ยงคนที่มีประสิทธิภาพการทำงานต่ำไว้ในหน่วยงานจนตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน ก่อให้เกิดผลเสียต่อองค์การ ลักษณะประการที่สองของการบริหารจัดการแบบญี่ปุ่น คือ ต้องมี Concential Decision Making คือ การตัดสินที่ต้องได้รับการยอมรับจากที่ประชุม ซึ่งเป็นผลดี แต่ผลเสีย คือ อาจเกิดความล่าช้า

วิลเลี่ยม โอชิ มองเห็นข้อดีและข้อเสียของ 2 ทฤษฎีตัวอย่าง แล้วนำข้อดีข้อเสียนั้นมาวิเคราะห์สร้างเป็นทฤษฎีร่วมสมัย ที่เรียกว่า Blend Together หรือการนำมาผสมผสานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เรียกว่า ทฤษฎี Z ซึ่งเป็นแนวคิดของการบริหารจัดการเชิงจินตนาการ โดย
1.) ใช้วิธีแบบ Long Term Employment หรือการจ้างงานระยะยาวขึ้น ซึ่งเป็นทางสายกลาง คือ ไม่ต้องจ้างตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ใช่การจ้างแบบระยะสั้น แต่เน้นการจ้างในระยะเวลาที่นานพอสมควรแล้วสร้างความผูกพัน
2.) ประการที่สอง จะต้องมีลักษณะที่เรียกว่า Individaul Responsibility คือ จะต้องมีความรับผิดชอบส่วนบุคคล ซึ่งนำเอาหลักแนวคิดแบบอเมริกันมาใช้กับบุคลากรในหน่วยงานให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง กล้าตัดสินใจ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารมากจนเกินไป
3.) และประการที่ 3 คือ ต้องมี Concential Decision Making คือ การตัดสินใจต้องทำเป็นทีม ต้องมีการพูดคุย ถึงผลดีผลเสียของการบริหารจัดการแบบต่างๆ

Henry Fayol : บิดาทฤษฎีการบริหารจัดการสมัยใหม่

Henri Fayol (1841-1925)
เป็นบิดาของทฤษฎีการจัดการการปฏิบัติการ(Operational management theory)
หรือบางทางก็ถือกันว่าเป็นบิดาของการบริหารจัดการสมัยใหม่
เขาเชื่อว่าการบริหารนั้นเป็นเรื่องของทักษะ และเขาสนใจที่จะศึกษาองค์การโดยรวมและมุ่งเน้นที่กิจกรรมการจัดการ (Managerial activities) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมห้าอย่างคือ
1. การวางแผน(Planning)
2. การจัดองค์การ(Organizing)
3. การบังคับบัญชา หรือการสั่งการ (Commanding)
4. การประสานงาน (Coordinating)
5. การควบคุม (Controlling)

อังริ ฟาโยล (Henri Fayol) เป็นนักอุตสาหกรรม ชาวฝรั่งเศส มีประสบการณ์ด้านการบริหารองค์การของรัฐขนาดใหญ่ ได้นำเสนอหลักการทีเขาเรียกว่า หลักการจัดการ 14 ประการ (Fayol's Fourteen Principles of Management) ซึ่งมีดังต่อไปนี้ คือ
1. การจัดแบ่งงาน (division of work) หลักการก็คือการทำให้คนจำนวนมากที่ต้องมาทำงานร่วมกัน ได้มีการจัดแบ่งหน้าที่ตามความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญพิเศษของแต่ละคน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. การมีอำนาจหน้าที่ (authority) ผู้จัดการต้องสามารถออกคำสั่งได้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้คำสั่งที่ออกไปนั้นมีความถูกต้องและเกิดความรับผิดชอบควบคู่กันไป เมื่อใดที่มีการใช้อำนาจหน้าที่ เมื่อนั้นความรับผิดชอบก็จะต้องติดตามไปด้วย
3. ความมีวินัย (discipline) ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือพนักงานต้องเชื่อฟัง และเคารพกฏเกณฑ์ขององค์การ การที่คนจะมีวินัยที่ดีนั้นเกิดจากความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายจัดการและคนทำงาน ทั้งนี้ เมื่อมีการทำผิดกฏระเบียบขององค์การ ก็จะมีผลทำให้ได้รับโทษ
4. เอกภาพของสายบังคับบัญชา (unity of command) พนักงานหรือลูกจ้างทุกคนจะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว สายบังคับบัญชาจะมีลักษณะเป็นทอดๆไป แต่ละคนจะรู้ว่าใครคือเจ้านายของตน
5. เอกภาพในทิศทาง (unity of direction) แต่ละคนในกลุ่มกิจกรรมขององค์การจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน รับแผนเดียว และจากหัวหน้าเดียว
6. ผลประโยชน์ของหมู่คณะจะต้องเหนือผลประโยชน์ส่วนตน (Subordination of Individual Interests to the General Interests) คนที่เข้ามาทำงานในองค์การนั้นจะต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ขององค์การจะต้องมาเหนือผลประโยชน์ส่วนตน
7. มีระบบค่าตอบแทนที่ยุติธรรม (remuneration) คนทำงานแม้จะต้องเห็นผลประโยชน์ขององค์การเหนือผลประโยชน์ส่วนตน แต่องค์การก็จะต้องทำหน้าที่จัดระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสมแก่ความสามารถและเป็นไปอย่างยุติธรรม
8. ระบบการรวมศูนย์ (centralization) การรวมศูนย์ในที่นี้หมายถึงระดับของการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีส่วนในการตัดสินใจอย่างไร การจะกระจายอำนาจ หรือรวมอำนาจเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ประเด็นจะอยู่ที่ ว่าทำอย่างไรจึงจะรวมศูนย์ได้ในแต่ละกรณี แนวคิดนี้มองเห็นความจำเป็นขององค์การที่ต้องมีศูนย์รวมอำนาจ
9. สายบังคับบัญชา (scalar chain) หมายถึงสายบังคับบัญชาจากระดับสูงลงมาสู่ระดับต่ำสุด สายการสื่อสารติดต่อก็จะเป็นไปตามนี้ คือจะเป็นไปตามระดับขั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสายการบังคับบัญชาก่อให้เกิดการเสียเวลาล่าช้า ก็ให้มีการข้ามขั้นตอนได้ และทั้งนี้ต้องเป็นข้อตกลงระหว่างส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
10. ความเป็นระบบระเบียบ (order) หมายความถึง คนก็ดี หรือวัสุดอุปกรณ์ทั้งหลายก็ดี จะอยู่ในที่อันเหมาะสมในเวลาอันเหมาะสม ความเป็นระบบระเบียบนี้ในส่วนหนึ่งหมายความว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นคนป่วยงาน ลางาน ก็สามารถมีคนทดแทนได้ เพราะมีความเป็นระบบทำให้รู้งานกัน
11. ความเท่าเทียมกัน (equity) ในที่นี้ ผู้เป็นหัวหน้าจะต้องมีการตอบสนองต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีเมตตา และยุติธรรม การใช้อำนาจของผู้บริหารจะเป็นไปด้วยหลักการ มิใช่จะทำอะไรได้ตามใจ
12. ความมั่นคง และสามัญฐานะของบุคลากร (stability of tenure of personnel) ทั้งนี้โดยมองว่า การที่มีคนเปลี่ยนงานบ่อยๆนั้นจะทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ ฝ่ายบริหารควรวางแผนงานให้สามารถมีการทดแทนกำลังคนกันได้ เมื่อมีตำแหน่งว่างลง
13. การริเริ่มสร้างสรรค์ (initiative) ผู้ใต้บังคับบัญชาจะสามารถมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะทำงานออกมาได้ในระดับที่สูง
14. วิญญาณแห่งหมู่คณะ (esprit de corps) การสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน มีความราบรื่น และความเป็นปึกแผ่นใน

Max Weber : ทฤษฎีการจัดการตามระบบราชการ (Bureaucratic Management)

รูปภาพจาก
http://www.google.co.th/search?sourceid=navclient&aq=t&ie=UTF-8&rlz=1T4CYBA_en___TH225&q=max+weber%28photo%29

แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เป็นนักสังคมวิทยา ชาวเยอรมัน ได้นำเสนอแนวคิดการจัดองค์การ ที่เรียกว่า bureaucracy เขาเห็นว่าเป็นลักษณะองค์การที่เป็นอุดมคติที่องค์การทั้งหลายควรจะเป็น หากได้รับการพัฒนาในระดับที่เหมาะสม โดยสรุปแล้วแนวคิดการจัดองค์กรของเว็บเบอร์มี 6 ประการมีดังนี้ คือ
1. องค์การต้องมีการจัดแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้แต่ละส่วนงานได้มีโอกาสทำงานในส่วนที่ง่ายพอ และมีการกำหนดงานนั้นๆให้ชัดเจนและไม่สับสน (Division of labor)
2. องค์การนั้นต้องมีสายบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ( Authority Hierarchy) โดยสำนักงานหรือตำแหน่งต่างๆถูกจัดให้เป็นลำดับชั้น โดยสำนักงานและตำแหน่งงานที่อยู่ใต้หน่วยงาน หรือตำแหน่งงานนั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลในระดับสูงขึ้นไป
3. ระบบการคัดเลือกคนนั้นต้องกระทำอย่างเป็นทางการ ( Formal Selection) ทุกคนที่เข้าร่วมในหน่วยงานนั้นจะถูกคัดเลือกมาตามความสามารถและคุณสมบัติซึ่งแสดงให้เห็นได้ด้วยการฝึกอบรม การศึกษาที่ได้รับ และการจัดให้มีระบบการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกอย่างเป็นทางการ
4. องค์การต้องมีระเบียบ และกฏเกณฑ์ (Formal Rules and Regulations) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถประกันความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ และการกำกับการทำงานของพนักงาน ผู้ทำหน้าที่ด้านการจัดการจึงต้องมีกฏเกณฑ์เอาไว้เพื่อเป็นการกำกับพฤติกรรมของทั้งสองฝ่าย
5. ความไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ( Impersonality) ความจริงคำว่า impersonality หมายถึงการไม่มีอะไรเป็นพิเศษเป็นการส่วนตัว ไม่มีการถือเอาสายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นใหญ่ ไม่มีการให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าจะทำอะไรก็ต้องให้เป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดเอาไว้
6. การแยกระบบการทำงานออกเป็นสายอาชีพ (Career Orientation) โดยฝ่ายบริหารเองก็ไม่ใช่เจ้าขององค์การ แต่เป็นนักบริหารหรือนักจัดการที่เข้าสู่ตำแหน่งตามความสามารถของตน โดยแยกความผูกพันและความเป็นเจ้าของออกจากกัน คนทำงานแต่ละระดับก็ได้รับอัตราค่าตอบแทนอย่างเป็นระบบ มีเลื่อนขั้น และการเติบโตภายในหน่วยงานได้ตามลำดับ

Luther Gulick : POSDCORB

รูปภาพจาก
http://www.upepo-sc.org/UPSC_Review_Mgt_People.html
Luther Gulick เป็นผู้คิดรูปแบบการบริหารจัดการโดยมีกิจกรรม 7 ประการมาใช้ในการบริหารจัดการ ในวงการบริหารจะรู้จักกิจกรรมทั้ง 7 ประการนี้เป็นอย่างดี มีคำย่อว่า POSDCORB(CO คือคำเดียวกัน) มีการนำรูปแบบการบริหารจัดการของ Luther Gulick ไปใช้ในการบริหารองค์กรสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง แนวความคิดที่นำเอามุมมองทั้ง 7 ด้านมาใช้นั้นสอดคล้องกับทฤษฎีการบริหารจัดการของ Henri Fayol , Frederick W.Taylor และ Max Weber
Luther Gulick ให้ความสำคัญของการควบคุม การสั่งการ การประสานงาน จะต้องสร้างขอบข่ายการควบคุม(span of control) ให้มีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆประกอบ เช่นจำนวนคนที่เป็นหัวหน้า จำนวนคนที่เป็นลูกน้อง ความสามารถเฉพาะตัวของหัวหน้า ลักษณะเฉพาะของงานที่ทำ และเสถียรภาพขององค์การ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการบริหารจัดการองค์กรคือเอกภาพการควบคุม (unity of command) องค์การที่ดีต้องสามารถสร้างโครงสร้างอำนาจภายในองค์การในลักษณะที่มีหัวหน้าฝ่ายบริหารควบคุมและประสานงานต่าง ๆ แต่เพียงผู้เดียว
องค์การเกิดขึ้นมา เพราะมนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกันได้ช่วยกันแบ่งงานกันทำตามความชำนาญพิเศษของแต่ละคนซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและแรงงานในการทำงานอย่างยิ่ง เมื่อสังคมขยายตัวขึ้นลักษณะการแบ่งงานกันทำจะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนในที่สุดจำเป็นต้องสร้างกลไกหรือโครงสร้างบางประการเพื่อผูกโยงประสานหน่วยงานแต่ละหน่วย (work unit) เข้าด้วยกัน ดังนั้นหัวใจทฤษฎีเกี่ยวกับองค์การจึงเป็นเรื่องของความพยายามจัดโครงสร้าง การประสานงานระหว่างหน่วยทำงานย่อยให้มีประสิทธิภาพ
หลักในการประสานงานหน่วยทำงานย่อยมีอยู่สองวิธีที่ต้องใช้ควบคู่กันไป คือ วิธีแรกเรียนว่า การประสานงานโดยการสร้างกลไกในความควบคุมภายในองค์การ หมายถึงการจัดตั้งโครงสร้างอำนาจ (structure of authority) ซึ่งประกอบด้วยสายการบังคับบัญชาระหว่างหัวหน้าและลูกน้องเป็นลำดับชั้น เชื่อมโยงจากยอดถึงฐานของโครงสร้างอำนาจ โดยให้คนในแต่ละขั้นของโครงสร้างดังกล่าวแบ่งงานกันทำเป็นหน่วยงาน วิธีที่สอง เรียกว่า การประสานงานโดยการผูกมัดทางใจ ทำให้คนที่มาร่วมกันทำงานมีพลังจิตตั้งใจประกอบการงานเต็มความสามารถและทำด้วยความกระตือรือร้น บรรยากาศในการทำงานดังกล่าวจะสร้างขึ้นมาได้ต้องอาศัยความสามารถของผู้นำ (leadership)
กิจกรรม 7 ประการมีดังนี้
P - Plannin
O - Organizing
S - Staffing
D - Directing
CO - Coordinating
R - Reporting
B - Budgeting
P คือการวางแผน (planning) หมายถึงการกำหนดเป้าหมายขององค์การว่าควรทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อะไร และจะดำเนินการอย่างไร
O คือการจัดองค์การ (organizing) หมายถึงการจัดตั้งโครงสร้างอำนาจอย่างเป็นทางการภายในองค์การเพื่อประสานงานหน่วยทำงานย่อยต่าง ๆ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์การได้
D คือการสั่งการ (directing) หมายถึง การที่หัวหน้าฝ่ายบริหารมีหน้าที่ต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลาโดยพยายามนำเอาการตัดสินใจดังกล่าวมาเปลี่ยนเป็นคำสั่งและคำแนะนำนอกจากนี้ ยังหมายถึงการที่หัวหน้าฝ่ายบริหารต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำขององค์การ
S คือการบรรจุ (staffing) หมายถึง หน้าที่ด้านบริหารงานบุคคลเพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และจัดเตรียมบรรยากาศในการทำงานที่ดีไว้
CO คือการประสานงาน(co-ordinating) หมายถึง หน้าที่สำคัญต่าง ๆ ในการประสานส่วนต่าง ๆ ของงานให้เข้าด้วยกันอย่างดี
R คือการรายงาน (reporting) หมายถึง การรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในองค์การให้ทุกฝ่ายทราบ ทั้งนี้อาจใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การวิจัยและการตรวจสอบ
B คือการงบประมาณ (budgeting) หมายถึงหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวของกับงบประมาณในรูปของการวางแผนและการควบคุมด้านการเงินการบัญชี


Frederick Herzberg : ทฤษฎี 2 ปัจจัย (Two Factors Theory)

ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงจูงใจโดยเฟรเดอริค เฮิร์ซเบอร์ก (Frederick Herzberg)
เฮิร์ซเบอร์กได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับแรงจูงใจของคน เขาได้ศึกษาโดยการสัมภาษณ์พนักงานในเรื่องของความพึงพอใจจากการทำงาน และทำให้เขาได้ผลสรุปว่าแรงจูงใจของมนุษย์จะประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ
1. ปัจจัยภายนอกหรือเรียกว่า Hygiene Factors
2. ปัจจัยภายใน หรือ Motivation Factors
ปัจจัยภายนอก(Hygiene Factors) ได้แก่
* นโยบายขององค์กร
* การบังคับบัญชา
* ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน
* สภาพแวดล้อม/เงื่อนไขในการทำงาน
* ค่าจ้าง/เงินเดือน/สวัสดิการ
* ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
ปัจจัยภายใน(Motivation Factors) ได้แก่
* การทำงานบรรลุผลสำเร็จ
* การได้รับการยอมรับ
* ทำงานได้ด้วยตนเอง
* ความรับผิดชอบ
* ความก้าวหน้าในงาน
* การเจริญเติบโต
ปัจจัยภายนอกนั้นจะเป็นแรงจูงใจที่สนองตอบต่อความต้องการภายนอกของคน ส่วนปัจจัยภายในจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญต่อคนมากกว่าปัจจัยภายนอก
หรือพูดให้ง่าย ๆ ก็ต้องบอกว่าปัจจัยภายนอกจะทำให้คนพึงพอใจได้ในเบื้องต้นและจะมีผลต่อคนอยู่ไม่นานนัก ส่วนปัจจัยภายในจะก่อให้เกิดแรงจูงใจกับคนอยู่ได้นานกว่าปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายในที่ประกอบด้วย การที่คนทำงานจนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้,การได้รับการยอมรับจากหัวหน้างานหรือคนรอบข้าง,การที่ได้ทำงานอย่างเป็นตัวของตัวเอง,การที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ตนเองทำอยู่,การได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือการเจริญเติบโตในวุฒิภาวะส่วนตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ นั้นจะทำให้คนเกิดแรงจูงใจที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะตอบสนองความต้องการใจจิตใจของคน และเป็นแรงจูงใจคนให้ทำงานได้ดีกว่าปัจจัยภายนอก
นอกจากนี้เฮิร์ซเบอร์กยังบอกอีกว่า
1.องค์กรควรจะให้คนทำงานที่ท้าทายอย่างเต็มความสามารถ
2.พนักงานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถจะต้องได้รับการเพิ่มความรับผิดชอบให้สูงขึ้น
3.หากงานไม่มีความท้าทาย และไม่ทำให้คนทำงานได้อย่างเต็มความสามารถแล้วจะเกิดปัญหาในเรื่องของแรงจูงใจในการทำงาน

Frederick W. Taylor : ทฤษฏีการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์

เทย์เลอร์ ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ ปรัชญาการบริหารของเทย์เลอร์ได้แก่
1.ทำการศึกษางานแต่ละส่วนด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานแต่ละอย่าง
2.ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการคัดเลือกและการฝึกอบรมพนักงานและมอบหมายความรับผิดชอบให้ทำงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน
3. มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารและพนักงาน
4. แบ่งงานและความรับผิดชอบในงานเป็นส่วนต่าง ๆ
เทย์เลอร์ได้พัฒนาวิธีการจ่ายค่าจ้างต่อหน่วยแบบสองระดับ(Different rate system)

Henry L. Gantt : ผู้พัฒนาการอธิบายแผนโดยใช้กราฟ (Gantt Chart)

ไม่สามารถหารูปคุณ Gantt มาให้ดูได้ ดูรูปกราฟแทนไปก่อนก็แล้วกัน ใครมีช่วยอนุเคราะห์ด้วยครับ ถือว่าเป็นวิทยาทาน
คุณ Gantt เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในด้านที่นำเอากราฟ "Gantt Chart" มาเป็นสื่อในการอธิบายแผน การวางแผน การจัดการ และการควบคุมองค์กรที่มีความสลับซับซ้อน เพื่อให้ผู้รับฟังเกิดมิติในการรับรู้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วเขายังได้คิดวิธีจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานแบบใหม่ โดยใช้วิธีให้สิ่งจูงใจ

Frank B. & Lillian M. Gilbreths : Time – and – Motion Studies

แนวคิดของ Gilbreth เน้นการกำจัดความสิ้นเปลือง และความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน โดยการหาวิธีการทำงานที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง (the o­ne best way to do work) การศึกษาที่สำคัญคือลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกายในการทำงาน (Motion Study)ผังกระบวนการทำงาน (Work Flow Process Chart)พวกเขาได้นำกล้องเพื่อทำการถ่ายรูปเก็บข้อมูล นำมาใช้ศึกษาลักษณะการทำงานของมนุษย์ ศึกษาในเรื่องของเวลาและการเคลื่อนไหวเราจะเห็นได้ว่าบุคคลทั้งสองช่างเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ในยุคปัจจุบันการลดรอบการทำงาน หรือการลดระยะเวลาการทำงานเพื่อให้ได้งานเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมคือสิ่งจำเป็นที่หลายหน่วยงานจะต้องทำ ถือว่าเป็นเรื่องของการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน สำคัญถึงขนาดจะต้องทำสัญญาต่อกันเลยว่าจะต้องปฏิบัติให้ได้ ถ้าทำไม่ถึงเกณฑ์ก็จะอดโบนัส หรือได้น้อยลงไป


แนวข้อสอบวิชา EDA 6113
QUIZ ครั้งที่ 1

    โจทย์
    ให้นักศึกษาอธิบายความสำคัญของรูปแบบ Best Practice และนักศึกษาจะนำหลักการนี้ไปปรับใช้ในการบริหารองค์กรได้อย่างไรเพื่อให้องค์กรที่ปฎิบัติงานอยู่ประสบผลสำเร็จ

QUIZ ครั้งที่ 2

    โจทย์
    ที่ว่าการปฎิบัติงานของนักบริหารนั้น เปรียบได้กับการอำนวยการเพลงของวาทยากร(นายวงดนตรี หรือ Conductor)ท่านเข้าใจว่าอย่างไร การบริหารและการอำนวยเพลงต่างก็ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ หมายถึงอย่างไร ใครทำหน้าที่ CEOและใครทำหน้าที่ COO จงสาธยายอย่างละเอียด หากยกตัวอย่าง เปรียบเทียบให้ดูเป็นข้อๆได้จะดีมากเป็นพิเศษ

    Final
    โจทย์
    1. แนวคิดใหม่ในการบริหารการศึกษามีความเกี่ยวสัมพันธ์กับเทคโนโลยี วิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์ ให้นักศึกษาพิจารณาแนวคิดสำคัญในการบริหารการศึกษา ต่อไปนี้แล้ววิเคราะห์อภิปลายชี้แจง ว่าแนวคิดเหล่านี้มีหลักการแนวคิดอย่างไร จะนำไปใช้บริหารจัดการศึกษาที่มีกรอบแนวคิดอย่างไร จึงจะช่วยให้การศึกษามีคุณภาพ

    2. ในการบริหารงานหรือการปฏิบัติงานของท่านนั้นท่านได้เคยทำงานนั้นๆมาก่อนแล้วไม่มากก็น้อย ขอถามว่าท่านเห็นว่าทฤษฏีการบริหารใดที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อท่านมากที่สุดและท่านได้นำทฤษฎีนั้นๆมาใช้ปีระยุกต์ในการบริหารงานหรือแก้ปัญหาหรือป้องกันมิให้เกิดปัญหาต่างๆเกิดขึ้นในองค์กรของท่านได้หรือไม่ จงอธิบาย

1 ความคิดเห็น :